วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2551





ยุทธศาสตร์คุณธรรมนำความรู้

กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำนโยบายและกำหนดแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อเร่งรัดการปฏิรูปการศึกษาโดยยึดคุณธรรมนำความรู้ มุ่งมั่นที่จะขยายโอกาสทางการศึกษาของประชาชนให้กว้างขวางและทั่วถึง โดยคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ เสริมสร้างความตระหนักสำนึกในคุณค่าของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาคนโดยใช้คุณธรรมเป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ และเชื่อมโยงความร่วมมือของสถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา และสถาบันการศึกษา

กลุ่มเป้าหมายแรกที่สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ คือ นักเรียน นิสิต นักศึกษาในสถานศึกษา ประมาณ 15 ล้านคน ซึ่งถ้าทำได้ดีกับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาก็จะขยายผลไปสู่สังคมในวงกว้างผ่านตัวนักเรียน นักศึกษาด้วย นอกจากนี้ ยังมีประชาชนที่อยู่ในการศึกษานอกระบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านกระบวนการศึกษาของการศึกษาตามอัธยาศัย

แนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างเสริมคุณธรรมในระบบการศึกษาไทย จะใช้ระบบเครือข่ายโดยยึดโรงเรียนเป็นพื้นฐาน หน่วยสำคัญที่สุดที่จะก่อให้เกิดผล คือสถานศึกษา เครือข่ายระดับต้น คือสถานศึกษาต้องเชื่อมโยงกับครอบครัว วัด หรือสถาบันทางศาสนา รวมถึงในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งจะมีเครือข่ายเสริมสร้างคุณธรรมในระบบการศึกษาผ่านคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา

กลไกเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือการสร้างวัฒนธรรมสถานศึกษา หรือวัฒนธรรมองค์กรใหม่ โดยนำคุณธรรมสำคัญๆ เข้าไปเป็นวิถีชีวิตของคนในสถานศึกษา หรือองค์กรนั้น และต้องดำเนินการอย่างครบวงจร เช่น การยึดหลักของคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ ได้แก่ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี มีน้ำใจ และให้การศึกษาอบรม เพื่อให้ยึดเอาเรื่องเหล่านี้เป็นการประพฤติปฏิบัติตนในช่วงที่เด็ก และเยาวชนอยู่ในสถานศึกษา ครูและผู้บริหารก็ต้องปฏิบัติเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย จากนั้นติดตามดูว่าผลที่เกิดเชิงพฤติกรรมเป็นอย่างไร

การศึกษา จะเป็นปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนให้เป็นไปในแนวทางที่พึงปรารถนา เรื่อง "คุณธรรม" ไม่ได้วัดกันที่มีความรู้คุณธรรมมากน้อยแค่ไหน แต่ต้องวัดกันที่พฤติกรรมที่แสดงออกมา ที่เป็นส่วนหนึ่งของการยึดติดเป็นคุณค่าที่อยู่ในตัวตนของคนมากน้อยแค่ไหน และสิ่งนี้ไปกำกับให้มีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความมีคุณธรรมมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่วิธีการ

การที่เด็กและเยาวชนได้ซึมซับ หรือเกิดความตระหนักในคุณธรรมนำความรู้ "สื่อมวลชน" จึงมีบทบาทที่สำคัญยิ่งที่จะเข้ามาร่วมกันพัฒนาการศึกษาและปลูกฝังคุณธรรม โดยการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร เกี่ยวกับคุณงามความดีของบุคคลในด้านต่างๆ ของสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นตัวอย่าง หรือแบบอย่างที่ดี "รายการคุณพระช่วย" จึงเป็นช่องทางหนึ่ง เพื่อสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมคุณธรรมนำความรู้

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะเร่งดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วนของสังคมให้การขับเคลื่อนสังคมไทยได้เป็นสังคมของคำว่า "คุณธรรมนำความรู้" อันจะส่งผลให้เด็กและเยาวชนของชาติเติบโตขึ้นมาบนฐานของคุณธรรมได้อย่างแท้จริง ประเทศชาติเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนตลอดไป